กลองชุดเป็นชื่อเรียกภาษาไทย มีความหมายถึง กลองหลายใบ ภาษาอังกฤษ
ใช้ Team Drum หรือ Jass Drum ทั้งสองชื่อมีความหมายเหมือนกัน คือ การบรรเลงกลอง
ครั้งละหลายใบ คำว่า “แจ๊ส (Jass) หมายถึง ดนตรีแจ๊ส ซึ่งใช้กลองชุดร่วมบรรเลง จึงเรียกว่า Jass Drum และยังมีชื่อเรียกกลองชุดเป็นภาษาอังกฤษ ว่า Dance Drumming หมายถึงกลองชุดใช้บรรเลงจังหวะเต้นรำ
กลองชุดประกอบด้วย กลองลักษณะต่างๆหลายใบ และฉาบหลายอันมารวมกัน โดยใช้ผู้บรรเลงเพียงคนเดียว กลองชุดนี้ตามประวัติของดนตรีไม่ปรากฏว่าได้เข้าร่วมบรรเลงกับวงดนตรีดุริยางค์สากล ซึ่งเป็นวงดนตรีขนาดใหญ่ แต่ใช้บรรเลงร่วมกับวงดนตรีแจ๊ส และวงดนตรีที่มีเครื่องดนตรีน้อยชิ้นบรรเลงได้แก่ วงคอมโบ้ (Combo) วงสตริงคอมโบ้ (String Combo) ฯลฯ
ส่วนประกอบของกลองชุด กลองชุดประกอบด้วยกลองลักษณะต่างๆ หลายใบและฉาบหลายอันมารวมกันโดยใช้ผู้บรรเลงเพียงคนเดียว กลองชุดนี้ตามประวัติของดนตรีไม่ปรากฏว่าได้เข้าร่วมบรรเลงกับวงดนตรีดุริยางค์สากล ซึ่งเป็นวงดนตรีขนาดใหญ่ แต่ใช้บรรเลงร่วมกับวงดนตรีแจ๊สและวงดนตรีที่มีเครื่องดนตรีน้อยชิ้นบรรเลงได้แก่วง คอมโบ้ วงสตริงคอมโบ้ ฯลฯ กลองที่ใช้ร่วมบรรเลงกับกลองชุดมีดังนี้
1. กลองใหญ่ (Bass Drum)
กลองใหญ่ มีรูปร่างลักษณะคล้ายคลึงกับกลองใหญ่ที่ใช้บรรเลงในวงดุริยางค์สากลแต่ขนาดแตกต่างกันคือ ขนาดกลองใหญ่ของกลองชุดมีขนาดที่นิยมใช้ทั่วไป คือ ขนาด 14 x 20 นิ้ว หรือ 14 x 22 นิ้ว มีอุปกรณ์เหมือนกันกับกลองใหญ่วงดุริยางค์ทุกประการ เวลาบรรเลงไม่ต้องใช้ขอหยั่งรองรับ เพราะมีขาหยั่งติดมากับตัวกลอง เพียงแต่ดึงขอหยั่งออกทั้งสองข้างจะทำให้กลองไม่เคลื่อนที่ เป็นการยึดตัวกลองใหญ่ให้ติดอยู่กับพื้นกลองใหญ่ไม่ใช้ไม้ถือสำหรับตี ใช้กระเดื่อง (Pedal) ติดแท่งเหล็กกลมๆ ปลายหุ้มด้วยสักหลาดความยาวประมาณ 10 นิ้ว สำหรับเท้าข้างขวาเหยียบลงไปบนกระเดื่อง ปลายกระเดื่องส่วนบนจะทำหน้าที่แทนมือ
2. กลองเล็ก (Snare Drum)
กลองเล็ก เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของกลองชุดรูปร่างลักษณะกลองเล็กที่ใช้บรรเลงร่วมกับกลองชุด มีลักษณะเหมือนกลองเล็กที่ใช้บรรเลงวงดุริยางค์วงใหญ่ทุกประการ หรือเป็นกลองเล็กอย่างเดียวกัน สามารถนำไปใช้บรรเลงร่วมกับวงดนตรีโดยทั่วไปได้กลองเล็กเป็นเครื่องดนตรีที่สำคัญที่สุดในจำพวกเครื่องเคาะตีทั้งหลายเพราะการบรรเลงตามบทเพลงของกลองเล็กจะทำหน้าที่บรรเลงจังหวะที่ขัดกับกลองใหญ่ โดยกลองใหญ่จะบรรเลงตามจังหวะหนัก และเบา กลองเล็กจะบรรเลงจังหวะขืนหรือจังหวะขัด มีลักษณะเหมือนกับหยอกล้อกัน และเป็นการกระตุ้นให้ผู้ฟังตื่นตัว มีอารมณ์ร่วมกับผู้บรรเลง เกือบจะทุกบทเพลงที่เปิดโอกาสให้กลองเล็กแสดงความสนุก คึกคัก และเป็นการเรียกร้องให้เครื่องดนตรีอื่นๆร่วมสนุกสนานด้วยนั่นคือ การบรรเลงกลองเล็กตอนปลายประโยคของบทเพลง ที่ภาษานักตีกลองเรียกว่า “ห้องส่ง” หรือ “บทส่ง” (Fill) ขนาดกลองเล็กที่นิยมใช้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 x 14 นิ้ว
3. ฉาบ (Cymbals)
ฉาบ เป็นส่วนประกอบอีกชิ้นหนึ่งของกลองชุด รูปร่างลักษณะเหมือนกับฉาบที่ใช้บรรเลงในวงดุริยางค์ โดยทั่วไปนิยมใช้ฉาบขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 20-30 นิ้ว ตั้งไว้ด้านข้างขวามือ และขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 16-18 นิ้ว ตั้งไว้ด้านข้างซ้ายมือ ฉาบทั้งสองใบนี้ไม่มีเชือกหนังสำหรับมือถือ แต่จะมีขาหยั่งรองรับทั้งสองใบ เวลาบรรเลงใช้มือขวาตีฉาบด้านขวามือเป็นหลัก เพราะมีเสียงก้องกังวานกว่า บางครั้งอาจสลับเปลี่ยนมาตีด้านซ้ายมือบ้างเป็นบางครั้ง
4. ไฮแฮท (Hi Hat)
ไฮแฮท คือ ฉาบสองใบเหมือนกับฉาบในวงดุริยางค์ แต่มีขนาดเล็กกว่า โดยทั่วไปนิยมใช้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 14-15 นิ้ว ฉาบทั้งสองใบนี้ไม่ใช้เชือกหนังร้อยสำหรับถือ เพราะมีขาตั้งรองรับ ใบที่หนึ่งใส่ลงบนขาตั้งโดยให้ด้านนูนอยู่ด้านล่าง จะมีแผ่นโลหะและสักหลาดรองรับ อีกใบหนึ่งใส่ลงบนขอตั้งโดยให้ด้านนูนอยู่ด้านบน มีที่ไขติดอยู่กับแกนของขาตั้ง โดยกะระยะให้ห่างกันพอประมาณ เพื่อไม่ให้ฉาบทั้งสองใบชิดติดกัน ช่วงล่างสุดมีกระเดื่องเหมือนกับกลองใหญ่สำหรับเหยียบให้ฉาบทั้งคู่กระทบกัน ไฮแฮทมีหน้าที่คอยขัดจังหวะหรือช่วยหนุนกลองเล็ก เน้นจังหวะขัดให้กระชับยิ่งขึ้น
5. ทอม ทอม (Tom Tom)
ทอม ทอม คือ กลองขนาดเล็กสองใบมีรูปร่างเหมือนกลองเล็ก แต่มีขนาดสูงกว่า ไม่ติดเส้นลวด ทอม ทอม ทั้งสองใบมีขนาดแตกต่างกัน ใบหนึ่งจะติดตั้งทางด้านซ้ายมือ ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าอีกใบหนึ่ง ซึ่งติดตั้งด้านขวามือ โดยทั่วไปนิยมใช้ทอม ทอม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 9 x 13 นิ้วและขนาด 14 x 14 นิ้ว ทั้งสองใบจะมีรูด้านข้างสำหรับใส่แกนโลหะเพื่อติดตั้งบนกลองใหญ่ ระดับเสียงทอม ทอม ด้านซ้ายมือมีระดับเสียงสูงกว่าด้านขวามือ ทอม ทอม มีหน้าที่สร้างความสนุกคึกคัก โดยจะบรรเลงในบทส่ง หรือการเดี่ยวกลอง (Solo) เพื่อสร้างความรู้สึก การกระตุ้นให้เพลิดเพลินกับจังหวะ บทเพลงที่ใช้ ทอม ทอม บรรเลงมากที่สุด คือ เพลงประเภทลาติน
6. ฟลอร์ทอม (Floor Tom)
ฟลอร์ทอม มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่ง ว่า “ทอมใหญ่” (Large Tom) รูปร่างลักษณะเหมือนกับ ทอม ทอม ไม่ติดเส้นลวด ขนาดของฟลอร์ทอม สูงกว่าทอม ทอม มีขาติดตั้งกับตัวฟลอร์ทอม เวลาบรรเลงตั้งอยู่ด้านขวามือชิดกับกลองใหญ่ เสียงฟลอร์ทอมต่ำกว่าเสียงทอม ทอม แต่เสียงสูงกว่าเสียงกลองใหญ่ ฟลอร์ทอม ทำหน้าที่อย่างเดียวกับ ทอม ทอม โดยทั่วไปนิยมใช้ ฟลอร์ทอม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 16 x 16 นิ้ว
อ้างอิงจาก http://www.thaigoodview.com/node/18209
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น